นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน เม.ย. 66 จัดทำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และทีเอชเอ สำรวจระหว่างวันที่ 10-25 เม.ย. มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 81 แห่ง ระบุว่า จากเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติออกมาท่องเที่ยวกันอย่างคึกคักที่สุดในรอบ 3 ปี รวมถึงการกระตุ้นท่องเที่ยวจากภาครัฐ เช่น การจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรอง นโยบาย 5 เอฟ ซอฟต์เพาวอร์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในแคมเปญต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในปัจจุบันไปในทิศทางที่ดีขึ้นคำพูดจาก pg เว็บตรง
ทั้งนี้ จากการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว ทำให้ 29% ของผู้ตอบผลสำรวจมีจำนวนลูกค้าต่างชาติกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 แล้ว และอีก 27% คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่โรงแรมบางส่วนประเมินว่าลูกค้าต่างชาติจะกลับมาเท่ากับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 67 โดยส่วนใหญ่คาดว่าเป็นช่วงไตรมาส 1 หรือไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) โดยมีสัดส่วนที่ 16% และ 15% ตามลำดับ ขณะเดียวกันผู้ตอบยังได้ประเมินอัตรากำไรสุทธิในปัจจุบันเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 ด้วย พบว่าโรงแรม 60% มีอัตรากำไรสุทธิในปัจจุบันยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่ 32% ของผู้ตอบมีอัตรากำไรสุทธิใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และอีก 8% มีอัตรากำไรสุทธิมากกว่าช่วงก่อนโควิด
แม้ว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวและโรงแรมจะฟื้นตัวดีขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 แต่สมาคมฯ ยังหวังว่า ภาครัฐจะยังคงผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับกระแสนิยมของนักท่องเที่ยว เพราะตอนนี้ประเทศไทยถูกจารึกบนแผนที่โลกในฐานะเมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก กรุงเทพฯ มีชื่อเสียงเหมือนนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส และโตเกียว จึงอยากให้ภาคท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติของทุกกระทรวง เพราะภาคท่องเที่ยวสร้างผลทวีคูณ (Multiplier Effect) ถึงระดับฐานราก มีศูนย์กลางการพัฒนาภาคท่องเที่ยว ให้เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ร่วมกันวางกลยุทธ์สอดรับการเติบโต
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปี 66 เมื่อเทียบกับปี 65 กว่า 58% ของผู้ตอบมีแผนจะลงทุนในปีนี้ ยังไม่แน่ใจ 25% และไม่มีแผนลงทุน 17% ส่วนประเด็นเม็ดเงินลงทุน กลุ่มโรงแรมที่มีแผนลงทุน ส่วนใหญ่กว่า 77% จะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดย 28% ของผู้ตอบระบุว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ขณะที่ 26% ของผู้ตอบจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 11-20% ส่วนอีก 23% ของผู้ตอบจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10% ด้าน 13% ของผู้ตอบระบุว่า จะใช้เงินลงทุนเท่ากับปีก่อน
โดยโรงแรมส่วนใหญ่ 87% เน้นลงทุนเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมแซมห้องพัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รองลงมาเป็นการลงทุนด้านระบบไอทีและซอฟต์แวร์ 38% การลงทุนระบบ Automation 19% การลงทุนขยายอาคารหรือสาขา 9% และการควบรวมและเข้าถือกิจการ 2%
“ด้านข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการลงทุน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าต้นทุนบริหาร เช่น ค่าแรง ค่าไฟ เป็นอุปสรรคในการลงทุนอันดับแรก รองลงมาเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตามลำดับ”
นอกจากนี้ ผลสำรวจฯยังระบุถึงภาพรวมการดำเนินงานของโรงแรม อัตราการเข้าพักเดือน เม.ย. อยู่ที่ 57% ลดลงจากเดือน มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 66% โดยลดลงในเกือบทุกภูมิภาคตามการเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเข้าพักในภาคเหนือ อย่างไรก็ดี อัตราการเข้าพักของภาคตะวันออกปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เพราะไม่ไกลจากเขตเมืองและสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการเข้าพักเดือน พ.ค. ลดลงอยู่ที่ 47%
โดยลูกค้าหลักส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าต่างชาติ แต่ในภาพรวมสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% คิดเป็น 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ลดลงจากเดือนก่อน หากพิจารณากลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพัก ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง รองลงมาคือ ยุโรปตะวันตก
ด้านสถานการณ์การจ้างงาน ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ 68% ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่ง 40% ของผู้ตอบเห็นว่าปัญหาดังกล่าวกระทบคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบจำนวนลูกค้าที่รับได้ ขณะที่โรงแรมอีก 22% ระบุว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งคุณภาพการให้บริการและจำนวนลูกค้าที่รับได้ โดยเฉพาะโรงแรมในภาคตะวันออกซึ่งมีอัตราการเข้าพักเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและกระทบต่อการให้บริการมากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพเมื่อเทียบกับเดือนก่อน
นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 66 ภาคเอกชนธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเชื่อมโยง ต้องการให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นลำดับต้น และวางรากฐานการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนสู่อนาคต และขอให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์สำคัญ สร้างรายได้หลักแก่ประเทศไทย.